วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ที่มาของคำว่า " ไอยคุปต์ "

Tourist     Map   of    Egypt
           อียิปต์เป็นดินแดนปริศนาของโลกที่ชวนหลงใหลและน่าศึกษาอย่างมากแห่งหนึ่ง  คนไทยเรียกหรือรู้จักอียิปต์โบราณในนามว่า " ไอยคุปต์ "
ที่มาของคำว่า "ไอยคุปต์"  ในภาษากรีก
           ในวิกิพีเดีย  สารานุกรมเสรี  เขียนถึงที่มาของไอยคุปต์เอาไว้ว่า ที่มาของคำว่า "ไอยคุปต์ " น่าจะมาจากการทับศัพท์คำภาษากรีกว่า  ไอกึปตอส ( Aigyptos )  ซึ่งเป็นชื่อที่คล้ายคลึงกับเทพเจ้าในตำนานปรัมปราของกรีก  สององค์ด้วยกัน  นั่นก็คือ  " ไอกือปิออส " ( Aigypois )   และ  "ไอกึปตอส " ( Aigyptos )
แต่ที่มีความสำคัญเกี่ยวโยงกับอียิปต์ คือ ไอกึปตอส
            ตามตำนานของกรีก  กล่าวไว้ว่า  ไอกึปตอส เป็นผู้ที่ตั้งชื่อแผ่นดินอียิปต์ว่า  ไอกึปตอส  เทพองค์นี้เป็นโอรสของเบลอส  และอันฆินอย  ฝ่ายบิดานั้นสืบตระกูลจากโปเซย์ดอน  ส่วนฝ่ายมารดาสืบตระกูลจากเนลอส เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์   ไอกึปตอสได้ครอบครองดินแดนอารเบีย  ซึ่งเรียกว่า
เมลัมโปเดส ( Melumpodes = เท้าสีดำ ) ครั้นภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ไอกึปตอส
            นอกจากแนวทางการวิเคราะห์ดังกล่าว ยังมีผู้วิเคราะห์ศัพท์ ไอกึปตอส ว่ามาจากศัพท์สองคำ  คือ ไอกฺษ , ไอกอส ( aix ,aigos ) เป็นคำนามหมายถึง แพะ กับคำว่า ปตอส ( ptoss) เป็นกริยา หมายถึง นอบน้อม หรือ หวั่นกลัว แต่รวมความหมายแล้วไม่ชัดเจนนักว่าแปลว่าอย่างไร
            ในมหากาพย์โอดิสซี ของโฮเมอร์ เล่มที่ 18 มีกล่าวถึงแม่น้ำไอกึปตอส  เมื่อโอดิสเซอุสเดินทางไปถึงแผ่นดินอียิปต์  แม่น้ำดังกล่าวก็คือ แม่น้ำไนล์นั่นเอง
            ในภาษากรีกยังมีการใช้คำว่า ไอกึปตอส  หมายถึงคนอียิปต์และแผ่นดินอียิปต์ด้วย  ส่วนวิชาอียิปต์วิทยา (หรือไอยคุปต์วิทยา ) มีในภาษากรีกมานานแล้ว โดยใช้คำว่า ไอกึปติออลอเกีย ( Aigyptiologia )  ภาษาละตินใช้ว่า ไอกึปโตโลเกีย ( Aigyptologia ) และในภาษาอังกฤษถอดโดยตรงว่า
Egyptology
ที่มาของคำว่า "ไอยคุปต์"  ในภาษาละติน
            ในภาษาละตินยังมีคำศัพท์เรียก อียิปต์ว่า  ไอกึปตุส , ไอกึปตี  ซึ่งนอกจากแผ่นดินอียิปต์แล้ว ยังหมายถึงกษัตริย์อียิปต์ในตำนานพระองค์หนึ่ง  นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์เชื่อมโยง  กล่าวถึงภาษาอียิปต์ไว้ว่า "ลิงกัว  ไอกึปติอาคา "
ที่มาของคำว่า  " ไอยคุปต์ " ในภาษาอียิปต์
             นักภาษาโบราณเสนอคำว่า  " ไอกึปตอส " น่าจะได้เค้ามาจากภาษาอียิปต์โบราณ  จากคำว่า ฮิ-คุป-ตาฮ  ( Hi - kup - tah ) หรือ ฮา - คา-ปตาส ( Ha-ka -ptah ) ซึ่งถอดจากอักษรภาพ มีความหมายว่า เทพเจ้าคา  แห่งปตาฮ์  อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองเมมฟิส    คำดังกล่าวมีปรากฎในศิลาจารึกโรเซตตาสโตน  ( Rosetta  Stone ) ที่พบ ณเมือง โรเซตตาด้วย
ที่มาของคำว่า "ไอยคุปต์" ในภาษาไทย
             ไอยคุปต์ในภาษาไทยนั้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการใช้คำ " ไอยคุปต์ " ในภาษาไทยมาช้านานเีพียงใด  กาญจนาคพันธุ์  เขียนเอาไว้ในภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ว่า  " ในสมัยรัชกาลที่ 6 เคยเรียก    Egypt เป็น " ไอยคุปต์ ' นับว่าเข้าท่าดี " ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่า คำนี้เข้ามาเมื่อใด
             แต่มีการกล่าวถึงชัดเจน  คือ พจนานุกรมไทย ของมานิต มานิตเจริญ อธิบายไว้ว่า " ไอยคุปต์ น่าจะหมายถึง  อียิปต์ "
            แต่อย่างไรก็ตามที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นข้อทักท้วงและเสนอแนะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แสดงพระราชนิยมเกี่ยวกับการใช้คำศัพท์เรียกชื่อทางภูมิศาสตร์  เมื่อราวปี พ.ศ. 2465 ดังนี้
" นามประเทศ อิยิปต์  รักให้เรียก ไอยคุปต์ ตามแบบหนังสือสันสกฤต"
            ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า คำว่า ไอยคุปต์นี้ น่าจะเริ่มเรียกกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 นั้นเอง ซึ่งข้อความดังกล่าวแสดงว่าทรงนิยมให้ใช้ " ไอยคุปต์ " แต่ประเด็นที่ว่าตามแบบหนังสือสันสกฤตนั้น ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอย่างไร  เนื่องจากในพจนานุกรมภาษาสันสกฤตเท่าที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน ระบุชื่ออียิปต์ว่า "มิสรเทศ " (สอดคล้องกับคำที่ภาษาอื่นๆในตระกูลภาษาอาหรับใช้เรียกชื่อประเทศอียิปต์)
อย่างไรก็ตามอาจมองได้ว่า "ตามแบบหนังสือสันสกฤต ในที่นี้ หมายถึง "รูปลักษณ์ของคำ " นั่นคือ "หนังสือ" ในประโยตค ก็คือ "ตัวหนังสือไทยที่เขียนแล้วดูเหมือนคำสันสกฤต "  เป็นไปได้ว่า พระองค์ทรงเห็นว่า การเขียน "ไอยคุปต์ " จะทำให้มีรูปลักษณ์ที่คล้ายๆกับคำสันสกฤต
            ยังมีชื่ออียิปต์ อีกชื่อหนึ่งที่คนไทยเรียกและน่าสนใจ นั้นก็คือ คำว่า "ยิบเซ็นอ่าน " ซึ่งปรากฎชื่อนี้ในโคลงจารึกวัดโพธิ์ว่า " ยิปเซ็นอ่าน   ชื่อชี้  ชาติแสดง /ทำเนียบทำนองอังกฤษใช้ " ซึ่ง กาญจนาคพันธุ์อธิบายว่า เข้าใจว่ามาจากภาษาอังกฤษนั่นเอง
            เป็นอันว่า ไม่ว่าจะเป็นไอยคุปต์ ยิบเซ็นอ่าน หรือ อียิปต์ ล้วนแแล้วแต่ คือ อียิปต์ด้วยกันทั้งสิ้น

ที่มาจาก
-อนันตชัย  จินดาวัฒน์ .ตามรอยอารยธรรม  ตอน กำเนิดอารยธรรมโบราณ.สำนักพิมพ์ ยิปซี.พิมพ์ครั้งที่ 2.ปีที่พิมพ์ 2555.หน้า26-28.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น